LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024
คอลัมน์วันนี้

รู้จัก…“สิรินธรวัลลี” พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีสรรพคุณทางสมุนไพร “สิรินธรวัลลี”

#รู้จัก…“สิรินธรวัลลี” พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีสรรพคุณทางสมุนไพร
“สิรินธรวัลลี”

𝘗𝘩𝘢𝘯𝘦𝘳𝘢 𝘴𝘪𝘳𝘪𝘯𝘥𝘩𝘰𝘳𝘯𝘪𝘢𝘦 (K.Larsen & S.S.Larsen) Mackinder & R.Clark
วงศ์ : Fabaceae
ในช่วงฤดูฝนต่อต้นฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาที่สิรินธรวัลลีออกดอก สถานที่ที่พบสิรินธรวัลลีได้ง่าย คือ ภูวัว ภูทอกน้อย จังหวัดบึงกาฬ และภูลังกา จังหวัดนครพนม
สิรินธรวัลลี เป็นไม้เถา ยาว 10-20 ม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ใบประดับและกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลแดง กลีบดอกสีเหลืองถึงสีแดงอมส้ม ผลเป็นฝักแบน มีขนสีน้ำตาลอมแดงปกคลุม
สิรินธรวัลลี เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แถวจังหวัดบึงกาฬ นครพนม สกลนคร ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีดอกและใบสวยงาม มีชื่อเป็นมงคล และมีสรรพคุณทางสมุนไพร
ที่มา – สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

สิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia sirindhorniae) เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งในสกุลชงโค วงศ์ถั่ว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่ เปลือกเถาเรียบ บิดตามยาวเล็กน้อย เนื้อไม้เมื่อตัดตามขวาง สีน้ำตาลเข้มออกแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนเป็นกลุ่มเหมือนกลีบดอกไม้ ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ออกดอกตลอดปี แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ภูทอกน้อย จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) ชื่อสปีชีส์ของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia sirindhorniae K. & S. S. Larsen, Nord. J.Bot.
ชื่อวงศ์ Leguminosae – Caesalpinioideae
ชื่ออื่นๆ สามสิบสองประดง, ประดงแดง

สิรินธรวัลลี เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง จัดอยู่ในสกุลเดียวกันกับชงโค เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยที่หาได้ยาก พบมีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และบนเทือกเขาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ในเขตของจังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน พรรณไม้ชนิดนี้พบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 โดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สิรินธรวัลลี เป็นไม้เลื้อยที่สามารถเลื้อยพันไปได้ไกลประมาณ 10-20 เมตร ด้วยการใช้มือเกาะที่ปลายม้วนงอจำนวน 2 อันที่เกิดจากซอกใบเกาะเกี่ยวไป ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนจะปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลแดง ลักษณะของเปลือกเถาเรียบและบิดตามยาวเล็กน้อยเมื่อแก่ เนื้อไม้แข็งเป็นสีน้ำตาลอมแดง จะมีลวดลายคล้ายกลีบดอกไม้เมื่อตัดตามขวาง

ใบ
มีลักษณะเป็นรูปไข่เกือบกลม ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ขอบใบเรียบ โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเว้าลึกจนเกือบถึงโคนใบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนปกคลุมเล็กน้อย หูใบมีลักษณะเป็นเส้นโค้งและม้วน มีเส้นใบออกจากโคนใบไปสู่ปลายใบประมาณ 9-11 เส้น ความกว้างของใบมีประมาณ 4-17 ซม. ยาวประมาณ 5-18 ซม. ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2-6.5 ซม.

ดอก
มักออกเป็นช่อแบบกระจุกซ้อนกันที่ปลายกิ่ง และมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ความยาวของช่อดอกมีประมาณ 10-15 ซม. ในแต่ละช่อจะมีดอกอยู่เป็นจำนวนมาก มีกลีบดอกสีขาว สีส้ม หรือสีส้มอมชมพูจำนวน 5 กลีบ เมื่อดอกยังตูมอยู่จะมีลักษณะเป็นรูปรี มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยแต่ละช่อจะทยอยบานกันไปเรื่อยๆ เมื่อบานเต็มที่วัดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกได้ประมาณ 1-2 ซม. กลีบดอกจะมีใบประดับรูปใบหอกจำนวน 2 ใบ ส่วนโคนจะเชื่อมติดกันและแยกออกเป็น 3 แฉกที่ส่วนปลาย ด้านในเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขนปกคลุม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร โคนกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันและแยกที่ส่วนปลาย ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เป็นเกสรที่สมบูรณ์จำนวน 3 อัน ส่วนอีก 2 อันจะเป็นหมัน มีเกสรตัวเมียและรังไข่ยาวประมาณ 7-11 มิลลิเมตร มีก้านดอกยาวประมาณ 1.5-2 ซม. สิรินธรวัลลีสามารถให้ดอกได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงของเดือนสิงหาคม-ตุลาคม มักจะบานให้เห็นได้มากที่สุด

ผล
มีลักษณะเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร และมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อผลแห้งมักแตกออก ซึ่งภายในมีเมล็ดรูปกลมแบนสีน้ำตาลดำขนาดเล็กอยู่ประมาณ 5-7 เมล็ด โดยวัดเส้นผ่านศูนย์กลางของเมล็ดได้ประมาณ 1.5-2.2 ซม.

การใช้ประโยชน์และสรรพคุณทางยาโบราณ
ใบ-ใช้เป็นยาขับพยาธิ
ผลอ่อน-ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคหนองใน กามโรค ทำให้แท้ง ใช้ขับพยาธิในเด็ก
เนื้อไม้-ใช้บำรุงกำลัง ใช้รักษาอาการเป็นเม็ด ผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ลมพิษ ภูมิแพ้ต่างๆ ที่เกิดจากระบบโลหิตในร่างกายหรือที่โบราณเรียกว่า ประดงทั้งสามสิบสองประการ

‘>

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด