LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024
คอลัมน์วันนี้

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี

 โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ค Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี

“ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง”

คำขวัญจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดใหม่ล่าสุดของไทยในลำดับที่ 77

บึงกาฬแม้จะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก แต่จังหวัดนี้ก็มีเสน่ห์ในวิถีอันเรียบง่ายสงบงามของเมืองริมฝั่งโขงให้ค้นหา

สำหรับสถานที่สำคัญในลำดับต้นๆของบึงกาฬก็คือ “ภูทอก” ที่เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว”

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
รูปเคารพพระอาจารย์ปู่จวน ในถ้ำพระวิหารบนชั้น 5

แหล่งพระธรรม

ภูทอกตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล ประกอบด้วยภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย

ภูทอกใหญ่เป็นภูโดดเดี่ยวที่ยังเป็นป่าไม่ได้เปิดให้ขึ้นไปเที่ยวชม ส่วนภูทอกน้อยนั้นไม่โดดเดี่ยว เพราะเป็นที่ตั้งของ “วัดภูทอก”หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเจติยาคีรีวิหาร

วัดภูทอก เป็นวัดป่าพระกรรมฐาน ที่ท่าน“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” พระป่าสายกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น ได้มาสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เพื่อเป็น “รุกขมูลเสนาสนัง” สถานที่ปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวก ตัดกระแสโลกย์ เพ่งเพียรในวัติปฏิบัติ เพราะพื้นที่ป่าภูทอก(น้อย)มีความร่มรื่นสงบเงียบ เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมของพระกรรมฐาน

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ภูทอกสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสันโดษ ปลีกวิเวก

มาวันนี้เมื่อเวลาผ่านมากว่า 40 ปี พื้นที่ป่ารอบวัดภูทอก ถูกหักร้างถางพงสร้างเป็นหมู่บ้าน ชุมชน ถนนหนทาง ไร่สวน แต่ป่าภูทอกยังคงความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งด้วยลักษณะอันโดดเด่นของขุนเขาและความสำคัญของการเป็นดินแดนธรรม ภาพของภูทอกจึงถูกนำไปบรรจุไว้ในตราประจำจังหวัดบึงกาฬคู่กับ “บึงโขงหลง”พื้นที่ธรรมชาติอันขึ้นชื่อของบึงกาฬ

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ทางขึ้นภูทอกจะมีป้ายบอกกกระเบียบอย่างเคร่งครัด

เคร่งครัด เคารพสถานที่

แม้ภูทอกจะเป็นสถานที่สำคัญขึ้นชื่อของบึงกาฬ แต่ปัจจุบันทางวัดยังคงเจตนารมณ์ของพระอาจารย์จวนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั่นก็คือการติดป้ายประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า

“…วัดภูทอก “ท่านพระอาจารย์จวน ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานบำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรม วิปัสสนากัมมัฏฐาน(ใช้ตัวสะกดตามป้ายของวัด) โปรดเยี่ยมชมด้วยความสงบ เคารพสถานที่…”

นอกจากนี้ทางวัดยังเคร่งครัดต่อการเข้าเยี่ยมชม ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามขีดเขียนทุกที่-ทุกจุด ห้ามทิ้งขยะบนเขาใครที่นำอะไรขึ้นไปให้นำกลับลงมาด้วย คนที่แต่งกายไม่สุภาพ โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่นุ่งน้อยห่มน้อยทางวัดเขาติดป้ายประกาศห้ามขึ้นไปบนยอดภูทอก(เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์) ที่เด็ดไปกว่านั้นคือทางวัดติดป้ายประกาศไว้เด่นชัดบริเวณลานจอดรถว่า

“ถ้านุ่งน้อยห่มน้อย อย่าลงจากรถเด็ดขาด”

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขาร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

มหัศจรรย์แห่งภูทอก

วัดภูทอกเป็นวัดป่าอันร่มรื่น เมื่อเข้ามาในวัดจะเห็นสระน้ำมีจุดนั่งพักชมวิว เบื้องหน้าสระน้ำมองขึ้นไปด้านบนจะเป็นยอดภูทอกตั้งตระหง่านทอดตัวสะท้อนเงาน้ำดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์

ขณะที่ด้านข้างของสระน้ำเป็นที่ตั้งของ “เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขาร พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม สีน้ำตาลแดง ยอดสีทอง ส่วนฐานบริเวณด้านนอกมีงานประติมากรรมภาพนูนต่ำจัดแสดงเรื่องราวอัตชีวิตช่วงเด่นๆของพระอาจารย์จวน ส่วนด้านในมีรูปเคารพของพระอาจารย์จวนขนาดเท่าองค์จริง และจัดแสดงอัฐบริขารในสมัยบำเพ็ญสมณธรรม เรื่องราวบางส่วนของท่าน และบรรจุพระอัฐิธาตุไว้ให้สักการบูชา

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
เส้นทางแห่งศรัทธาที่สร้างรอบไหล่ผาภูทอก

ภูทอกมีจุดเด่นที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่เส้นทางแห่งศรัทธาที่พระ เณร และชาวบ้าน ได้ร่วมกันสร้างบันไดและสะพานเวียนรอบไหล่ผาไว้ตั้งแต่สมัยพระอาจารย์ก่อตั้งวัด

เส้นทางแห่งศรัทธามีทั้งหมด 7 ชั้น ก่อสร้างด้วยไม้เป็นหลัก แต่บางช่วงก็นำจุดเด่นของสภาพพื้นที่มาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น บันไดหินทราย บันไดลอดรูถ้ำ หรือทางเดินใต้เพิงผาถ้ำที่สร้างอิงแอบกับสภาพพื้นที่ไปอย่างกลมกลืน นับเป็นงานวิศวกรรมที่ก่อสร้างด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านอันน่าทึ่งไม่น้อย ถึงขนาดบางคนยกให้ว่านี่คือความ“มหัศจรรย์แห่งภูทอก”กันเลยทีเดียว

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ทางขึ้นช่วงแรกชั้น 1-2 ที่สูงชัน

7 ชั้นสู่ยอด

สำหรับเส้นทางแห่งศรัทธาทั้ง 7 ชั้นนั้น ชั้นที่ 1-2 จะเป็นบันไดสูงชัน นำสู่ชั้น 3 ที่เป็นจุดเริ่มของทางเดินรอบเขา มีทางแยก 2 ทางให้เลือกเดิน ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้ แต่เป็นทางชันมากผ่านซอกหินผาที่มีลักษณะคล้ายถ้ำน้อยๆ ส่วนทางขวาจะเป็นทางเดินสู่ชั้นที่ 4 ที่มีการทำทางเป็นสะพานไม้เดินเลาะเลียบลอยออกมาจากหน้าผา ชั้นนี้จะเป็นที่พักของแม่ชี สะพานรอบเขามีระยะทางประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางมีที่พักเป็นระยะๆ

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
วิวทิวทัศน์ในทางเดินเลาะเลียบผาภูทอก

แต่ถ้าใครเดินไหว อย่าพลาดการขึ้นไปชั้น 5 เพราะถือเป็นชั้นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุด ชั้นนี้มีทางเดินรอบ มีทั้งเส้นทางสะพานไม้ที่สร้างยื่นออกไป และทางเดินบนลานดินใต้เพิงผาที่ธรรมชาติกัดเซาะหน้าผาจนเป็นซอกเว้าลึกเข้าไป เป็นเส้นทางเดินที่มีหลังคาธรรมชาติช่วยกันแดดกันฝน

ระหว่างทางเดินรอบเขาบางจุดเป็นที่นั่งปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางจุดมีกุฏิพระสร้างยื่นออกมาจากเพิงผา และมีหลายช่วงเป็นหน้าผามีชื่อต่างๆ เช่น ผาเทพนิมิต ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น และก็มีหลายช่วงเป็นจุดที่ทางวัดเรียกว่าถ้ำ ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำยอ ถ้ำฤาษี เป็นต้น

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ถ้ำพระวิหาร

นอกจากนี้ยังมีถ้ำพระวิหารเป็นจุดสำคัญ มีลักษณะเป็นเพิงผาที่มีการก่อสร้างเป็นศาลา มีพระพุทธรูปประดิษฐาน พร้อมด้วยรูปเคารพหลวงปู่จวน(พระอาจารย์จวน)ให้กราบไหว้บูชา หน้าปากทางเข้าถ้ำจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ใส่ตู้โชว์ไว้เพื่อให้ผู้ดูได้ปลงสังขาร อนิจจัง พร้อมบอกตำแหน่งของกระดูกต่างๆด้วยภาษาพื้นบ้านและข้อความเตือนใจ ว่า “…นานไปกลายเป็นฝุ่น สูญสิ้นเป็นดิน โลกนี้อนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัพเพ สังขารา ทุกขา, สัพเพ สังขารา อนัตตา คนเราเป็นอย่างนี้…”

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
พุทธวิหาร

บนชั้น 5 ยังมีจุดไฮไลท์อีกแห่งหนึ่ง คือ “พุทธวิหาร” สถานที่ที่มีธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์เป็นก้อนหินแยกตัวมาจากก้อนหินใหญ่ ดูจะตกแหล่ไม่ตกแหล่ คล้ายพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า หรือเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรี ปัจจุบันมีการสร้างอาคารไม้เล็กๆ ภายในประดิษฐานรูปเคารพหลวงปู่จวนและพระพุทธรูปองค์เล็กๆให้สักการบูชา

พุทธวิหารแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ มีข้อความที่ทางวัดเขียนไว้ว่า “พุทธวิหารนี้ เป็นที่ที่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง เสด็จมาดับขันธ์นิพพาน” : หลวงปู่ขาว อนาลโยบอก หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ เล่า”

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
สะพานทางเดินชั้น 5 เชื่อมต่อไปยังอาคารพุทธวิหาร

ถัดขึ้นไปในชั้น 6 ถือเป็นเส้นทางเดินชมวิวชั้นดี มีหลายมุมมองให้ทัศนา ไม่ว่าจะเป็นวิวของวัดที่มองลงจะเห็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐ-บริขารของพระอาจารย์จวนตั้งโดดเด่นอยู่ใกล้ๆกับสระน้ำ วิวทิวทัศน์กันกว้างไกลของพื้นที่รอบข้างที่มองลงไปเห็นอำเภอศรีวิไล สวนยางพารา และพื้นที่ป่าสีเขียวรอบข้างวัด

ใครที่คิดว่าเดินต่อไปไม่ไหวหรือสังขารไม่เอื้ออำนวย เดินขึ้นภูทอกแค่ชั้น 5 นี้ก็พอ ส่วนใครที่แรงยังดีและมีเวลาพอผมขอแนะนำให้ขึ้นไปจนสุดถึงชั้น 7 เพราะไหนๆเมื่อเดินขึ้นมาแล้วควรขึ้นให้ถึงชั้นสูงสุดที่เป็นดังชั้นดาดฟ้าของภูทอก

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
มุมมองมุมสูงจากชั้น 7 ลงมายังพุทธวิหารกับองค์ประกอบรอบบริเวณ

เมื่อขึ้นไปถึงจะเป็นป่าโปร่ง(ไม่มีสะพานเดินรอบ) แต่จะมีเส้นทางเดินไปยังจุดชมวิว 2 -3 จุด มีจุดที่เป็นไฮไลท์คือจุดชมวิววิวของพุทธวิหารในมุมสูงที่มองลงไปเห็นขุนเขาเบื้องหลังลูกย่อมตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง เบื้องด้านถัดเข้ามาด้านขวามือเป็นอาคารพุทธวิหารที่ดูคล้ายมีก้อนหินใหญ่วางทับอยู่บนหลังคา แต่อันที่จริงเป็นการสร้างอาคารและหลังคาต่อเดิมมาจากแนวธรรมชาติเดิม นับเป็นการดึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาปลูกสร้างอาคารบนยอดเขาที่เห็นแล้วชวนทึ่งไม่น้อยเลย

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
เส้นทางสายธรรมสู่ยอดภูทอก

เส้นทางแห่งธรรม

สำหรับเส้นทางแห่งศรัทธาที่นำขึ้นสู่ยอดภูทอกนั้นเหล่าบรรพชิตในวัดเคยใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม วิปัสนากรรมฐานเพื่อนำไปสู่การหลุดพ้น

ขณะที่เหล่าบรรดาเพศฆราวาสอย่างเราๆท่านๆที่มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชมบนยอดภูทอกนั้น พระในวัดภูทอกรูปหนึ่งได้เคยบอกกับผมว่า ในเส้นทางสู่ยอดภูทอกนั้นเป็นดังเส้นทางแห่งธรรม ที่ทางวัดต้องการให้ผู้เดินขึ้นยอดภูทอกได้เรียนรู้ และรับรู้ในธรรมะบนเส้นทางธรรมสายนี้

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ระหว่างทางขึ้นภูทอกมีป้ายบอกคติธรรมเตือนใจติดเป็นระยะๆ

นั่นจึงทำให้ตั้งแต่แรกเริ่มที่เดินสู่ทางเข้าไปจนถึงยอดชั้น 7 จะมีป้ายคำคม คำกลอน ข้อคิด ติดตามต้นไม้ เพิงผา เพื่อแสดง“ธรรม”บอกระหว่างทางแก่ผู้พบเห็นและขบคิดตามไปตลอด ด้วยแนวคิด

“ที่ภูทอก ต้นไม้ทุกต้น ก้อนกินทุกก้อน ร้องบอกธรรมอยู่ทุกวันคืน!”

“ภูทอก” มีธรรมในทาง ในทางมีธรรม/ปิ่น บุตรี
ร่องรอยคนมือบอน

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าจิตเจตนาของทางวัดจะถูกมองข้าม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มาขึ้นภูทอกมักจะละเลยไม่ได้อ่านป้ายข้อคิดคติบอกธรรม เพราะบ้างมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับความเหน็ดเหนื่อย บ้างก็เพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์ มีน้อยคนนักที่จะมุ่งสนใจอ่านและคิดตาม ที่แย่ที่สุดก็เห็นจะเป็นพวกมือบอนที่แม้ทางวัดจะเขียนข้อความกำชับว่าอย่าขีดเขียน แต่พวกก็ยังมือบอนไปขีดเขียนเติมต่อ

ดังเช่นบางคนที่มือบอนไปเขียนคำว่า “เมาคลีลูกหมาป่า” เติมต่อท้ายป้ายข้อความแสดงธรรม

งานนี้สงสัยยังคงอินกับทอล์กโชว์เดี่ยวของโน้ส อุดมไม่หาย แต่พวกนอกจะไม่รับรู้ในธรรมะแล้ว แล้วเข้าข่าย “ทำลาย”อีกด้วย

       ***********************************************************

ภูทอก ตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ เป็นที่ตั้งของ“วัดภูทอก”หรือ“วัดเจติยาคีรีวิหาร” เนื่องจากสถานที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว หากแต่อนุโลมเปิดให้ฆราวาสเข้าเยี่ยมชม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมะ ดังนั้นผู้ที่มาเที่ยวภูทอกต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น ห้ามส่งเสียงดัง ห้ามขีดเขียนทุกที่-ทุกจุด ห้ามทิ้งขยะบนเขา แต่งกายด้วยชุดสุภาพ สุภาพสตรีที่นุ่งน้อยห่มน้อยห้ามขึ้น

วัดป่าภูก้อนขึ้นได้ตังแต่เช้าจนถึงเวลา 17.00 น.ของทุกวัน โดยเปิดให้ขึ้นทุกวันยกเว้นช่วงสงกรานต์วัยที่ 10 -16 เมษายนของทุกปี

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดบึงกาฬเชื่อมโยงกับภูทอก ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร การเดินทางได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุดรธานี(รับผิดชอบพื้นที่ จ.บึงกาฬด้วย) โทร. 0-4232-5406-7

‘>

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด