LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

เปิดมุมมอง “พินิจ จารุสมบัติ” โค่นยางทิ้งไม่ใช่แนวทางยั่งยืน

หากจะกล่าวถึงผู้ที่บุกเบิกทำให้จังหวัดบึงกาฬผงาดขึ้นเบอร์ 1 ของภาคอีสานในวันนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้นำร่องนำกล้ายางพารามาปลูกในบึงกาฬ ทำให้จำนวนสวนยางพาราค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเกือบล้านไร่ ทว่าบริบทในการแก้ปัญหาราคายางให้ยั่งยืน คือ การแปรรูปเพิ่มมูลค่า และนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตร ไม่ใช่การโค่นยางทิ้ง แต่ก็ไม่ส่งเสริมการปลูกเพิ่ม

“แปรรูป” ทางออกราคายาง

หนึ่ง ในทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ การโค่นยางพาราทิ้งปีละ 4 แสนไร่ เป็นเวลา 7 ปี จนถึงปี 2564 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดย 2 แสนไร่เลิกปลูกถาวรไปปลูกพืชอื่นแทน อีก 2 แสนไร่ปลูกยางพาราพันธุ์ดีที่ให้น้ำยางสูง และจะไม่มีผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดประมาณ 6-7 ปี ช่วยบรรเทาราคายางตกต่ำได้ระดับหนึ่ง แถมล่าสุดเกษตรกรที่เร่งโค่นใน 3 เดือนแรกปีนี้ จะให้เงินจูงใจอีกรายละ 4,000 บาท
อย่างไรก็ตาม “พินิจ จารุสมบัติ” ให้ความเห็นว่า หลักใหญ่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหายางพารายังเป็นการแปรรูป ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้อยู่ เพราะราคายางขึ้นลงอยู่ตลอด ไม่ใช่เพราะใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คือราคาตลาดโลก ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ร่วมกันแก้ปัญหามา มาถึงท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแปรรูป เพิ่มมูลค่า เพียงแต่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ไหน ทำอย่างไร ทำเท่าไหร่เท่านั้นเอง แผนมาถูกทางแล้ว อยู่ที่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจต้องตั้งเป้าหมาย ต้องขึ้นอยู่กับการลงทุน เทคโนโลยี การตลาด ฉะนั้น วันนี้ยุทธศาสตร์วางไว้ถูกทางแล้วเรื่องการแปรรูป แต่โจทย์คือการบริหารจัดการให้เกิดการตั้งโรงงานแปรรูป จากรายย่อยสู่รายใหญ่ เช่น เอสเอ็มอี สามารถผลิตหมอนยาง อาจจะดูว่าในตลาดโลก เช่น ตลาดจีน ยังต้องการหมอนยางพาราเท่าไร ปีละเท่าไร ทั่วโลกผลิตได้เท่าไร เพิ่มได้อีกกี่โรงงาน โรงงานละกี่ใบต่อปี ถ้ามีตัวเลขชัดเจนให้รีบส่งเสริมตั้งโรงงานทันที เพราะตลาดมีอยู่แล้ว รัฐต้องศึกษาข้อมูล เพราะอย่าลืมว่ายางมีส่วนสำคัญในการยกระดับจีดีพีประเทศ

จับมือจีนแก้สต๊อกยาง

ในส่วนยางพาราที่ค้างสต๊อกของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 1 แสนกว่าตัน ตรงนี้ต้องเอามาแปรรูปให้มากที่สุด อาจจะต้องเจรจาค้าขายระหว่างกัน เช่น โรงงานล้อยางจากเซี่ยงไฮ้ มา joint venture กัน ในแง่ของ production ที่ว่าเราสามารถนำเอาวัตถุดิบที่มีไปแลกยางรถยนต์ด้วยราคาเป็นธรรม ล่าสุด ผมคุยกับนักธุรกิจจีน เขายินดี ไม่ติดขัด และมาดูว่าหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ใช้ยางอะไรบ้าง เราก็เอาวัตถุดิบที่ค้างสต๊อกเหล่านั้นไปเทรดกับเขาไปเลย ใช้การเทรดแลกกันไป ในฐานะเพื่อนมิตร เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือกับบริษัท Double Coin ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่จากเซี่ยงไฮ้ของจีน เขาเห็นด้วยในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ให้ไปดูรถบรรทุกใช้ยางกี่เส้น เรามีวัตถุดิบอยู่แล้วก็เอาไปแลกบนพื้นฐานที่เป็นธรรม เราก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่พอก็ต้องนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่เราต้องการใช้ หรือบางประเทศที่ต้องการก็ไปเจรจา ให้ตีเป็นมูลค่าแล้วเทรด

อนาคตยางราคาพุ่ง

แน่นอน ในอนาคตยางพาราราคาพุ่งอยู่แล้ว พินิจกล่าวและเสริมว่า เนื่องจากปัจจุบันและแนวโน้มเทคโนโลยีพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนไป จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ต่อไปยางสังเคราะห์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน จากเคมี ที่เป็นคู่แข่งยางพาราจะน้อยลงตามไปด้วย ราคาจะเพิ่มขึ้น จะทำให้ดีมานด์ยางพาราเพิ่มทั่วโลก เรียกว่าต้องอาศัยยางธรรมชาติทั้งหมด ดังนั้น ผมจึงมองว่าไม่จำเป็นต้องไปโค่นต้นยาง ไม่จำเป็นเลย แม้ว่าซัพพลายจะมากกว่าดีมานด์นิดหน่อย ความต้องการยางพาราเป็นยุทธปัจจัย ต้องมีสต๊อก เพราะหากเกิดวิกฤตสงครามขึ้นมา ประเทศไหนไม่มียางพารา แพ้สงครามทันที

สวนทางรัฐมาตรการลดพื้นที่ปลูก



จริง ๆ แล้วพื้นที่ที่มีอยู่ก็โอเคแล้ว เพียงแค่ไม่ส่งเสริมการปลูกเพิ่ม แต่ไม่จำเป็นต้องไปตัดโค่นทิ้ง ไม่จำเป็นต้องลดกรีดเพราะต้นยางจะหมุนเวียนตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่เป็นเขตป่าไม้จัดการไปได้เพราะเป็นเรื่องการบุกรุก ส่วนการลดปลูกยาง ลดอยู่แล้ว มาเลเซีย อินโดนีเซีย หันไปปลูกปาล์ม อย่างปาล์มในบึงกาฬปลูกเยอะ ปลูกในจุดที่ปลูกยางไม่ได้ เช่น พื้นที่ที่น้ำท่วมน้ำขัง เพราะปาล์มกินน้ำเยอะ ดังนั้น จุดที่ลุ่มก็สามารถปลูกได้ ปัจจุบันนี้บึงกาฬปลูกปาล์มประมาณ 3 หมื่นไร่ วันนี้ตรงไหนปลูกยางไม่ได้ เราก็ปลูกปาล์ม และภาคอีสานเองมีโรงหีบที่สกลนคร ราคามาตรฐาน ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ค่าโลจิสติกส์มาก

หยุดวงจรราคายางตกต่ำ

ส่วน กรณีที่ถามว่าการดึงจีนมาตั้งโรงงานแปรรูปแล้ว ทำไมไม่ทำให้ราคายางดีขึ้น พินิจกล่าวว่า มันไม่เกี่ยว เพราะยางอยู่ที่ราคาตลาดโลก ควรมาทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมดีกว่า คือการรวมกลุ่มของสหกรณ์ ต้องผลักดันให้รวมกลุ่ม นำเอาผลผลิตน้ำยาง ยางก้อนถ้วย มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำให้ได้ จะเป็นหมอนยาง ล้อยาง หรือยางล้อรถมอเตอร์ไซค์เยอะแยะ แต่ทำไมเราไม่แปรรูป อินเดีย จีน ต้องการมหาศาล การผลักดันตลาดกลางกับราคายังเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย และการแก้ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เช่น การชดเชยให้เกษตรกรโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การแก้ปัญหาระยะยาวต้องไปมุ่งเน้นการแปรรูป การบูรณาการระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม เกษตรฯ พาณิชย์ คมนาคม ที่ตอนนี้ดีขึ้นมาก ชาวสวนยางก็ต้องยกระดับตัวเองให้สามารถยืนบนลำแข้งได้ด้วยการเพิ่มองค์ความ รู้การแปรรูป

จีนบุกธุรกิจยางครบวงจรในไทย

การที่ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ของจีนซื้อขายยางกันสูงมาก บางวันสูงถึง 6 ล้านตัน ดูไปแล้วเหมือนกำแพงเหล็กที่คอยคอนโทรลราคายางพาราไว้ในมือประเทศผู้ซื้อราย ใหญ่ หากสถานการณ์ยางล้นตลาดโลกก็ยากอยู่เหมือนกันที่จะดึงราคาขึ้นภายในระยะสั้น เหมือนเช่นครั้งล่าสุด ตกต่ำลงนานถึง 7 ปี ราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นมา ที่ราคาพุ่งสูงเกือบ กก.ละ 200 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ขณะที่ราคาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ตลาดกลางหาดใหญ่อยู่ที่ กก.ละ 46 บาทเศษ

นอกจากนี้กลุ่ม 5 เสือผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย ล้วนมีจีนที่เข้ามาร่วมทุนแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยอีกมาก เช่น บริษัท ไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์ บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจจีนยางรายใหญ่ เข้ามาถือหุ้นถึง 59% ในบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กลุ่มเต็กบี้ห้างมี “ซิโนเค็ม” รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีนเข้ามาฮุบ และผู้ถือหุ้นจากบริษัทจีน สิงคโปร์ เข้ามาถือหุ้นในกลุ่ม 5 เสือ แบบไม่เปิดเผยหรือนอมินีอีกมาก แน่นอนว่าการดึงราคายางขึ้นสูง ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทแม่ในจีน ดังนั้นจึงเป็นอีกกำแพงเหล็กที่คอยคอนโทรลราคายางในตลาดโลก

การที่ไทยร่วมกับประเทศผู้ผลิตยางพาราอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ตั้งตลาดกลางยางภูมิภาคขึ้นมาล่าสุด เพื่อคานอำนาจกับจีนผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ จึงอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรจึงจะเห็นผล

อย่างไรก็ตามในเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานศูนย์วิจัยและยางรถยนต์แห่งชาติ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน จะส่งทีมนักวิจัยมาส่งเสริมองค์ความรู้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการ แปรรูปยางทั้งระบบครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ และอยู่ระหว่างหารือขยายจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ 3 โรงงาน โดยจะเริ่มจากภูมิภาคอีสานเป็นพื้นที่นำร่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์จากจีนรายใหญ่หลายบริษัทเข้ามาตั้งโรงงานผลิตส่งออกแล้ว หลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นายโทนี่ เฉิน ผู้อำนวยการ ฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ดังนั้นการบุกเข้ามาทำธุรกิจในไทยในธุรกิจยางของ จีนแบบครบวงจร จึงน่าจับตา ส่วนไทยจะได้หรือเสีย หรือวิน-วิน ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐของไทยจะบริหารจัดการให้เหมาะสมต่อไป

ขอขอบคุณที่มาข่าว https://www.prachachat.net/economy/news-101030




‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด