LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

รบ.ปู’สานต่อเมืองยางพารา

สานต่อเมืองยางพารา…ความท้าทายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ : มัทนา ลัดดาสิริพร … รายงาน

 

                          การเดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซีย ของ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 28 มกราคม 2556 มีวาระสำคัญคือการพบปะกับ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อหารือถึงการผลักดัน เมืองยางพารา (Rubber City) ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย เชื่อมโยงกับทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยมีปัจจัยสนับสนุนการเกิดขึ้นของโครงการนี้ก็คือ เพื่อรองรับการที่ไทยอยู่ในฐานะประเทศที่ผลิตยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีรายได้ในภาคการส่งออกต่อปีกว่า 4 แสนล้านบาท จึงมีความจำเป็นต่อการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในเชิงปริมาณ การสร้างมูลค่า และโอกาสเพิ่มรายได้จากภาคการส่งออก

โครงการเมืองยางพารา อันเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้นในการขับเคลื่อน นับตั้งแต่ นาจิบ อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้หารือนอกรอบกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองฝ่าย ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศรัสเซีย ในเดือนกันยายน 2555 ถ้อยแถลงของผู้นำมาเลเซียต่อโครงการนี้คือ ทั้งมาเลเซียและไทย กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกยางพารา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา โดยให้น้ำหนักไปยังบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนที่เป็นเขตติดต่อระหว่างรัฐเกดะห์ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย กับ จ.สงขลาและจ.ยะลา

ทั้งนี้ นาจิบ อับดุล ราซัค ประเมินว่า “เมืองยางพารา” จะเป็นผลดีต่อทั้งมาเลเซียและไทย เพราะนี่คือเครื่องมือที่จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ซึ่งผู้นำมาเลเซีย ได้แต่งตั้งให้ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เข้ามารับหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายมาเลเซียเพื่อศึกษาถึงการจัดตั้ง “เมืองยางพารา” ปัจจัยที่สนับสนุนการเกิดขึ้นของโครงการนี้ก็คือ การที่ทวีปเอเชียเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญที่สุดของโลก คิดเป็น 94% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก และทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ล้วนแต่เป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรก จำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

“ในการเข้าพบกับ อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศ และเยี่ยมคารวะ นาจิบ อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรี ได้หารือถึงการจัดตั้งเมืองยางพารา เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางพาราของ 3 ประเทศ ที่ปลูกยางพารารายใหญ่ ทั้งนี้จะผลักดันให้มีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด ขั้นตอนต่อไป จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรี 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมของ 3 ประเทศ  เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและแนวทางที่จะนำมาใช้ในการผลักดันโครงการนี้” สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555

แรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเมืองยางพารา หรือนิคมอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มาจากท่าทีของนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่นำเสนอเรื่องนี้ต่อฝ่ายไทย ในเดือนกันยายน 2555 ด้วยแนวทาง ที่ต้องการเห็นทั้ง 3 ประเทศข้างต้นร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ อันหมายถึงการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาร่วมกัน ทั้งยังเป็นโครงการต่อเนื่องจากภาคีความร่วมมือไตรภาคียาง 3 ประเทศ และกลไกของบริษัทร่วมทุนยาง

ทั้งนี้ ฝ่ายมาเลเซีย กำหนดให้พื้นที่รัฐเกดะห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของมาเลเซียในรัฐภาคเหนือ และมีพรมแดนติดต่อกับอ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ สามารถเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกปีนัง และท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทั้งยังมีโครงข่ายมอเตอร์เวย์เชื่อมพื้นที่เหนือ-ใต้ของประเทศที่ติดกับภาคใต้ของไทยและสิงคโปร์

สำหรับความเคลื่อนไหวของไทยต่อแนวคิด “เมืองยางพารา” เริ่มขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2543 โดยการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การสวนยาง (อสย.) มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานนิคมอุตสาหกรรมยางครบวงจร ที่กิ่ง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ในเดือนกันยายน 2543 โดยคณะทำงานชุดดังกล่าว ประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัยยาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ต่อมามีการเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการใช้งบประมาณรวม 520 ล้านบาท จากคณะกรรมการปรับโครงการสร้างอุตสาหกรรม เพื่อวางโครงการสร้างพื้นฐาน ตลอดจนถึงการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่

ในปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กนอ.ได้หารือถึงแนวทางพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในจังหวัดที่มีความเหมาะสม ด้วยการเสนอให้จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่ เช่น ไม้ยางพารา ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายคือ จ.สงขลา จากนั้นในปี 2552 การเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนเมษายน ของ ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะนั้น ทาง กนอ.ก็ได้ชักชวนให้นักลงทุนจากจีน เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา มีการเสนอพื้นที่สงขลา เนื้อที่รวม 1,000 ไร่ รวมทั้งจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราแห่งใหม่ ทั้งเลย และหนองคาย เพื่อให้เป็นทางเลือกของการทุนเพิ่มเติม ในการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็คือในระดับนโยบาย ยังไม่มีความชัดเจนในการเห็นความสำคัญต่อยุทธศาสตร์เรื่องยาง การที่มาเลเซียกระตือรือร้นต่อเรื่องของการผลักดันเมืองยางพารา ผมว่านี่คือการสะท้อนของการเห็นความสำคัญ ต่อการสร้างโอกาสให้แก่พืชเศรษฐกิจรายนี้ ทั้งเมืองยางพาราหรือนิคมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร เป็นประเด็นที่พูดกันมาอย่างยาวนาน ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลควรจะตอบคำถามเฉพาะหน้าก็คือ จะใช้จังหวัดใด เป็นฐาน เพราะตัวเลือกขณะนี้ ไม่ได้มีเพียงสงขลา ยังมีระยอง หนองคาย เลย บึงกาฬ พิษณุโลก แม้แต่เชียงราย ที่ประกาศตัวขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือแม้แต่โครงการเพิ่มพื้นที่ปลูกยาง 8 แสนไร่ ซึ่งล่าสุด ก็มีท่าทีจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยุทธพงศ์) ที่ต้องการให้ล้มโครงการเพิ่มพื้นที่ปลูกยาง 8 แสนไร่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยด้านลบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ยางพารา การเจรจากับมาเลเซีย สำหรับผมแล้วนั่นการที่เพื่อนบ้านจะสร้างความได้เปรียบให้แก่ตัวเองมากขึ้น” เพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยให้ความเห็น

เป็นภาพรวมของก้าวเดินต่อแนวคิดผลักดันให้เกิด “เมืองยางพารา” ที่กำลังจะขับเคลื่อนอีกครั้งโดยมีแรงสนับสนุนสำคัญมาจากมาเลเซีย

 

 

——————–

(สานต่อเมืองยางพารา…ความท้าทายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ : มัทนา ลัดดาสิริพร … รายงาน)

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด